หลาย ๆ ท่านที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมอาจจะเคยเห็นคำว่า Profibus ผ่านตากันมาพอสมควร ว่าแต่ Profibus คืออะไร? Profibus เป็นโปรโตคอลที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ในรูปแบบ master-device บนเครือข่าย RS-485 โดยจะทำการวนรอบการส่งข้อมูลไปเรื่อย ๆ โดยโปรโตคอล Profibus จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. Profibus PA (Process Automation): เป็นแบบที่ไม่พบบ่อยนัก ส่วนใหญ่จะพบในระบบอัตโนมัติในพื้นที่อันตราย โดยการส่งข้อมูลจะส่งไปบนไฟเลี้ยง การสื่อสารแบบนี้มีความเร็วเพียง 31.25 kbit/s และความยาวเครือข่ายสูงสุด 1.9 km
2. Profibus DP (Decentralized Periphery): เป็นแบบที่พบได้โดยทั่วไป มีความเร็วสูงสุดถึง 12 Mbit/s โดยความยาวสูงสุดของแต่ละเครือข่ายอยู่ที่ 1.2 km สำหรับความเร็วไม่เกิน 93.75 kbit/s และ 100 m สำหรับความเร็ว 1.2 Mbit/s ข้อมูลที่ส่งบน Profibus DP มี 3 แบบ
2.1 DPV0 (Cyclic communication): 95% ของการสื่อสารบน Profibus DP เป็นรูปแบบนี้ ใช้สำหรับส่งข้อมูลทั่วไปและการตั้งค่า
2.2 DPV1 (Acyclic communication): หลัก ๆ ใช้สำหรับส่งการแจ้งเตือน
2.3 DPV2 (Time-based communication): ใช้สำหรับส่งข้อมูลไปทุกอุปกรณ์ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับตั้งเวลาให้ตรงกัน
ทั้งนี้รอบในการส่งข้อมูลของ Profibus DPV0 นั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณข้อมูล จำนวนอุปกรณ์บนเครือข่าย และความเร็วในการส่งข้อมูล โดยอุปกรณ์แต่ละตัวสามารถรับอินพุตได้ 244 byte และส่งเอาท์พุตได้ 244 byte ทั้งนี้การตั้งค่าอุปกรณ์ทุกตัวบนเครือข่าย Profibus จะทำผ่านไฟล์ GSD ซึ่งจะเป็นตัวบอกข้อมูลที่อุปกรณ์แต่ละตัวจะทำการรับและส่งทำให้สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
หวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครือข่าย Profibus หากผู้อ่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อทีมงาน Techsquare ได้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
รูปแบบการติดตั้งเครือข่าย Profibus
การวิเคราะห์ปัญหาบนเครือข่าย Profibus ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย ComBricks
การวิเคราะห์รูปแบบสัญญาณเพื่อระบุปัญหาบนเครือข่าย Profibus ด้วย ScopeWare